ในหลายวัฒนธรรมตะวันออก ถนนไม่ได้เป็นแค่ทางสัญจร แต่เป็นที่พบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมสาธารณะ ค้าขายแลกเปลี่ยนอีกด้วย จากถนนหน้าตึกแถวเรียงรายเป็นตลาดกึ่งถาวร จนสุดท้ายเมื่อเติมหลังคาคลุมเข้าไประหว่างตึกแถวจึงกลายเป็น shopping street ในที่สุด อย่างในประเทศญี่ปุ่นการจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตลาดแบบ shopping street เป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไปทุกเมือง ลักษณะที่คุ้นเคยคือเป็นย่านขายของต่างๆ ที่แสงลงมาน้อย เพราะต้องการหลบแดด ฝน แต่ก็ทำให้แสงในการใช้งานน้อยลงด้วยเช่นกัน
shopping street ในบางพื้นที่ที่มีอายุผ่านร้อนหนาวมานาน ต้องมีการปรับปรุงโฉมบ้าง เพื่อให้ตัวย่านการค้านี้สามารถกระตุ้นเมืองด้วยกิจกรรมที่เพิ่มเติมให้เหมาะสมกับยุคด้วยเช่นกัน เช่นกับ การปรับปรุงร้านในถนนยาวราว 440 เมตร อายุกว่า 50 ปี ในย่านการค้าฟุนะมะชิ เมืองฟุคุยะมะ จังหวัดฮิโระชิมะ ให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ จากแต่เดิมที่มีร้านร้างกว่า 30 ร้านในถนนสายนี้
ผู้ออกแบบปรับปรุงงานคือ Keisuke Maeda, UID เริ่มต้นด้วยการรื้อหลังคาคลุมร้านแบบเดิมออก แล้วทำการเติมสายสลิงสแตนเลสขึงระหว่างคานที่เพิ่มเขามาให้คลุมทางเดินแทนที่จะเป็นหลังคาทึบ ปล่อยให้แสงลงมายังถนนคนเดินมากขึ้น พร้อมมีบรรยากาศจากริ้วเงาของสายสลิง เมื่อลมพัดสายสลิงจะวูบไหวไปมา ช่วยสร้างบรรยากาศให้น่าเดินด้วยชีวิตชีวา พร้อมทำการปรับปรุงทางเดินพร้อมระบบไฟฟ้าเสียใหม่
จากการรื้อหลังคาทึบแบบเดิมออก ช่วยให้แสงแดดลงมายังถนนนี้ได้มากขึ้น มันสามารถปลูกต้นไม้ยืนต้นได้ นักออกแบบจึงเติมสวนขนาดเล็กพร้อมต้นไม้หน้าร้านตามแผนในช่วงเวลา 5 ปี โดยให้เจ้าของร้านในชุมชนช่วยกันดูแลสวน ต้นไม้ร่วมกัน การปรับปรุงนี้เป็นการเพิ่มจุดดึงดูดให้ย่านการค้านี้น่าใช้งานกว่าแบบเดิมมากขึ้น มีการออกแบบระบบจราจรใหม่ให้ใช้งานสะดวกขึ้น
สวนและต้นไม้ที่เติมเข้าช่วยเพิ่มบรรยากาศของแต่ละฤดู สีเขียวของฤดูร้อน มีส้มเหลืองเมื่อฤดูใบไม้ร่วง ทำให้รองรับกิจกรรมบนถนนนี้หลายอย่างของเมืองนี้อย่างมีสีสัน แค่คิดใหม่จากของเดิมที่ไม่ต้องรื้อทิ้ง แต่เป็นการหาแนวทางการแก้ปัญหาจากของเดิมให้ร่วมสมัยนั้นเอง
อ้างอิง: afasiaarchzine, g-mark , maeda-inc, ja 104. PUBLIC SPACE.2015 – 2016.Publisher:The Japan Architect